วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปวดหัวไหล่เป็นเวลานาน เลยกลายเป็นไหล่ติด




หัวไหล่ติด ทำอย่างไรดี
ไลฟ์สไตล์ของคนทำงานปัจจุบันไม่ว่าเป็นนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ นานๆ สะพายกระเป๋า โหนรถ ขับรถในสภาวะรถติดนานๆ หรือแม้แต่การเล่นกีฬา เช่น แบดมินตัน หรือ เทนนิส ถ้าสะสมไปนานๆ พอวัยเริ่มขึ้นต้นเลข 4 อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพสะสมที่เรียกว่า "ภาวะหัวไหล่ติด" ได้

 
ภาวะหัวไหล่ติด เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อไหล่ทำให้ปวดบริเวณหัวไหล่ อาจเจ็บอยู่หลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน เมื่ออาการปวดทุเลาลงแขนข้างที่ปวดจะไม่สามารถยกได้เหมือนเดิม เมื่อข้อไหล่ไม่เคลื่อนไหวในระยะหนึ่งก็จะเกิดเยื่อพังผืดและหินปูนแทรกในข้อและเนื้อเยื่อรอบหัวไหล่ ถ้าเคลื่อนไหวข้อไหล่จะปวดมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณไหล่อ่อนแรงและลีบลง กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหัวไหล่ติด คือ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่พบเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน
โดยส่วนใหญ่แล้ว นิวจะพบผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาไหล่ติดมากที่สุดค่ะ ประมาณ 80% ของชีวิตนักกายภาพบำบัดเลยค่ะ

วิธีรักษาที่นิยมใช้กันอยู่ 4 วิธี ได้แก่
1.การทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบร้อนบริเวณไหล่ด้วย hot pack, การทำคลื่นสั้น, การทำไมโครเวฟ, การทำเลเซอร์
แล้วแต่กรณี หรือสาเหตุของการเกิดอาการปวดไหล่ค่ะ และถ้าผู้ป่วยเป็นโรคแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น เบาหวาน ก็ไม่สามารถทำการรักษาบางวิธีได้ค่ะ ต้องให้นักกายภาพประเมินอาการก่อนนะคะ 
2.การบริหารบริเวณหัวไหล่ เช่น ท่าไต่กำแพง มักไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากเมื่อผู้ป่วยทำด้วยตัวเองจนถึงตำแหน่งที่หัวไหล่ติด ผู้ป่วยจะไม่ทำต่อเนื่องจากเจ็บมาก นิวขอแนะนำให้ไปชักรอกที่แผนกกายภาพบำบัดดีกว่าค่ะ หรือถ้าเคลือนไหวได้คล่องแล้วก็แนะนำออกกำลังกายด้วย shoulder wheel ค่ะ เพราะสามารถช่วยเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวได้ค่ะ (เห็นผลภายใน 3-4 อาทิตย์ ค่ะ) (แล้วแต่กรณี ว่าเป็นมากน้อยแค่ไหนด้วยค่ะ)





3.การฉีดยาสเตียรอยด์ (ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง นิวก็ไม่แนะนำค่ะ เพราะฉีดยาไปมากๆ ตอนแก่ไป กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจะเกิดภาวะฉีกขาดหรือบาดเจ็บ ขาดการยืดหยุ่นค่ะ เรียกได้ว่าเกิดผลข้างเคียงตามมาไม่หยุดไม่หย่อนค่ะ เข้าออกโรงพยาบาลจนเบื่อค่ะ)
4. การผ่าตัดส่องกล้อง ค่ารักษาค่อนข้างสูง แต่นิวก็คิดว่าดีกว่าข้อสามค่ะ เพราะเปรียบเสมือนเป็นการเอาต้นตอของอาการปวดไหล่ออกไปอย่างแท้จริง ผลข้างเคียงน้อย แต่ใช่ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดค่ะ (คนป่วยเบาหวานต้องคิดให้ดีก่อนนะคะ)